มหิดลกับพุทธศาสน์ศึกษา
ผมมีความรู้สึกส่วนตัวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งผมอยากเรียนให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้รับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันสนับสนุนตามสมควร
มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจในการศึกษาและเผยแผ่พระ พุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน แม้ว่าในสมัยแรกเริ่มที่ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยมหิดลจะให้ความสำคัญแก่แพทยศาสตร์,สาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ยังขาดแคลนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก แต่ในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการเรียนการสอน และการวิจัยทางพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติซึ่งจะสามารถยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่มหาชนอย่างกว้างขวางมาโดยลำดับ
ปีพ.ศ.2517 ภาควิชามนุษยศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.พินิจ รัตนกุลได้ริเริ่มเปิดสอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบ ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกศึกษาวิชาศาสนาต่างๆ ในเวลาเดียวกันในระดับปริญญามหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรัฐ พระพุทธศาสนาก็ได้รับการเน้นเป็นกรณีพิเศษ ต่อมา ภาควิชามนุษยศาสตร์ได้เปิดสอนวิชาจริยศาสตร์ศึกษา(Ethical Studies)ด้วย ทำให้เกิดมีการค้นคว้าวิจัยจริยธรรมทางพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์ บังเกิดผลเป็นผลงานวิจัยต่างๆ เป็นอันมาก
หลังจากนั้น รศ.ดร.พินิจ รัตนกุลได้ก่อตั้งวิทยาลัยศาสนศึกษา ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อช่วยผลิตครูสอนวิชาศีลธรรมซึ่งชำนาญศาสนาต่างๆ เพื่อไปประจำตามโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศอันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีนักศึกษาปริญญาตรีที่ศึกษาตามหลักสูตรนี้ไม่น้อยกว่า 250 คน พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในวิชาหลักที่นักศึกษาเหล่านี้ศึกษา ต่อมาเพื่อขยายการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดลได้ช่วยบรรจุพระไตรปิฎก ฉบับภาษาบาลีลงซีดีรอมได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลกเมื่อพ.ศ.2527 และเมื่อพ.ศ. 2548 นี้เอง มหา วิทยาลัยมหิดลก็สามารถบรรจุทั้งที่เป็นต้นฉบับภาษาบาลีทั้งที่เป็นสำนวนแปลเป็นไทยพร้อมอรรถกถาทั้งชุดลงในซีดีรอมได้สำเร็จ
หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งระดับปริญญาตรีและโท มหาวิทยาลัยมหิดลพยายามขยายการศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งมีคุณภาพการเรียนการสอนเทียบเท่ากับมาตรฐานนานาชาติ ในการนี้ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผมเป็นประธานคณะกรรมการร่างหลักสูตรตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 เพื่อศึกษาหาแนวทางร่างหลักสูตรทางร่างหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิต และขณะนี้ก็ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบัน หลักสูตรนี้ได้รับการอนุมัติจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยและจะเริ่มรับนักศึกษากลุ่มแรกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยจะเริ่มเปิดเรียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 นี้ การเปิดหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตที่มีมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาตินี้ จะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความเข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า
หลักสูตรนี้มีลักษณะเด่นดังนี้:
1. หลักสูตรนานาชาติทางด้านพุทธศาสนศึกษาแห่งแรกของประเทศ
2. เน้นสร้างนักวิชาการผู้ชำนาญทั้งบาลีและสันสกฤตที่สามารถผลิตงานวิชาการได้มาตรฐานนานาชาติ
3. ศึกษาวิธีตรวจชำระคัมภีร์ตามหลักมาตรฐานสากล
4. ร่วมมือกับศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (Oxford Centre for Buddhist Studies, Oxford University) ประเทศอังกฤษ และจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ ของโลกอื่นๆ เพื่อให้นักศึกษาในหลักสูตรได้ติดตามงานวิจัยทางพระพุทธศาสนาใหม่ๆในยุโรปและ อเมริกาอย่างต่อเนื่อง
5. ครูอาจารย์คัดสรรเฉพาะท่านที่ชำนาญเฉพาะด้าน สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก/หรือมีประวัติการทำงานวิจัยโดดเด่น
6. มุ่งต่อยอดงานวิจัยทางพระพุทธศาสนาที่เคยทำมาแล้ว
7. ขอบเขตงานวิจัย ครอบคลุมภาษาและวรรณคดีบาลีและสันสกฤต หลักธรรมคำสอนของ พระพุทธศาสนาทั้งสายเถรวาท, มหายานและวัชรยาน จากวรรณคดีภาษาบาลีของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท, วรรณคดีสันสกฤตของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู,วรรณคดีสันสกฤตในพระพุทธศาสนา, ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดีทางพระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนาเชิงมานุษยวิทยา, พุทธศิลปะ รวมทั้งพระพุทธศาสนาร่วมสมัย
จะเห็นว่าหลักสูตรของมหิดลเน้นมาตรฐานระดับนานาชาติ การจะถึงระดับนานาชาติได้นั้น ครูอาจารย์ต้องมีประสบการณ์ในการทำวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกา เราจึงพยายามดึงคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมาให้ความรู้นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ เราก็พูดได้ว่าคณาจารย์เรามีคุณภาพมาก
พูดถึงบรรยากาศรอบๆ มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่สำคัญ ทั้งในเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติ เช่น เรามีพุทธมณฑล สะดวกแก่การเข้าไปร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา, เรามีสำนักงานใหญ่ของมหา วิทยาลัยสงฆ์มหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมทั้งสำนักงานสถาบันแม่ชีไทยที่กำลังก่อตั้งขึ้นและอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย มหิดลไม่ถึงกิโล, เรามีสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส ซึ่งเป็นวิทยาเขตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ห่างไปประมาณ ๕ กิโล ดังนั้น บรรยากาศรอบๆ ศาลายาของมหิดลจึงเป็นใจอย่างยิ่งที่จะให้พระพุทธศาสนามีความเจริญงอกงามในประเทศไทย
สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือมหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นสถานที่เปิดอบรมทั้งภาษาบาลี, ภาษาสันสกฤต, ภาษาจีน, ภาษาทิเบตซึ่งเกี่ยวข้องกับคัมภีร์พระพุทธศาสนาแก่ผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นรากฐานนำไปสู่การศึกษาและวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่บันทึกด้วยภาษาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยเรียนในระบบตะวันตกโดยอาจารย์ที่เชี่ยวชาญภาษานั้นๆ และมีประสบการณ์ในการสอนภาษานั้นๆ มาแล้ว
ชุมชนบริเวณศาลายาซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเป็นชุมชนสีเขียว (Green area) ราชการห้ามสร้างโรงงานซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุของมลพิษต่างๆ นั้นน่าพำนักอาศัยอยู่มากแล้ว จะเห็นว่ามีผู้คนมาจับจองซื้อที่เป็นจำนวนมากขึ้น เพราะมีธรรมชาติเป็นต้นไม้รายล้อมรอบข้างอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว นอกจากนั้น ยังมีสถานที่ออกกำลังกายมากมายหลายแห่ง เช่น พุทธมณฑล, สนามกีฬามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก, สนามเล่นแบ็ดมินตันและเทนนิส, ห้องฟิตเนสที่ทันสมัย มีอุปกรณ์ครบครัน, มีสนามเล่นกอล์ฟ, มีศูนย์ฝึกกีฬาแบดมินตันของเอกชนต่างๆ หลายแห่ง ไม่ไกลจากพุทธมณฑล ถ้าเพิ่มบรรยากาศอันอบอุ่นของพุทธธรรมเข้าไปด้วย ก็จะสมบูรณ์เข้าไปอีก